ในบทความนี้จะช่วยตอบคำถามที่หลายๆคนอยากรู้ ว่ากาวยางหลังจากที่ทาไปบนวัสดุแล้ว ต้องรอนานแค่ไหน รอให้แห้งแค่ไหน ก่อนที่จะประกบชิ้นงานได้ และถ้าเราประกบชิ้นงานขณะที่กาวยางยังเปียกอยู่ จะส่งผลอย่างไรกับชิ้นงานของเรา

ทากาวยาง

1. กาวยาง กับสิ่งที่เรียกว่า “สารทำละลาย”

กาวยาง เป็นกาวที่เกิดจากการผสมของยางสังเคราะห์ เรซิ่น สารเติมแต่ง มาปั่นให้เข้ากันกับของเหลว ที่เรียกว่า “สารทำละลาย”

เมื่อเราทากาวยางลงไปบนวัสดุ สารทำละลาย ที่ผสมอยู่ในกาวยาง จะค่อยๆระเหยออก จนแห้งหมด เหลือแต่ “เนื้อกาว” ซึ่งตัวเนื้อกาวนี่เอง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานวัสดุทั้ง 2 ชิ้นให้ติดเข้าด้วยกัน

เพราะแบบนี้การที่จะให้เกิดแรงยึดเกาะที่แข็งแรง ทนทานมากที่สุด คือต้องรอให้สารละลายระเหยออกไปให้หมดจนเหลือแต่ เนื้อกาว ซึ่งก็หมายความว่า หลังจากที่ทากาวยางไปบนวัสดุแล้ว ต้องรอให้กาวยางแห้งสนิท ไม่ใช่แค่แห้งหมาด แต่แห้งสนิท ก่อนที่เราจะทำการประกบชิ้นงานทั้งสองชิ้นเข้าด้วยกัน

2. รอนานแค่ไหน ก่อนประกบชิ้นงาน

หลายๆคนถามว่า จะต้องใช้เวลารอนานเท่าไหร่เพื่อให้กาวยางแห้งสนิท คำตอบก็คือ ประมาณ 7-10 นาทีหลังจากทากาวยางลงไปบนวัสดุ

…แต่หากเป็นช่วงที่อากาศชื้น อย่างหน้าฝน หรือถ้าทำงานในพื้นที่เย็นจัด แนะนำ ว่าควรรอให้นานขึ้น อย่างต่ำ 15 นาที

SB Tip : การทำงานในพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่อากาศชื้นจัด ควรนำไดร์เป่าลมร้อน มาเป่าให้ทั่ววัสดุที่เราจะทากาวก่อน เพื่อไล่ความชื้นออกจากวัสดุให้หมด โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน เช่น ไม้อัด, ลังกระดาษ หรือผ้า เป็นต้น

3. วิธีเช็คง่ายๆว่ากาวยางแห้งสนิท พร้อมประกบ

วิธีเช็คง่ายๆ 2 วิธี ว่ากาวยางของเราแห้งสนิทแล้ว คือ

  1. ส่วนกาวที่แห้ง จะดูด้าน ไม่มันเงา
  2. ถ้าเราเอาหลังข้อมือ หรือนิ้วมือแตะลงไป จะต้องไม่มีกาวติดนิ้วเราขึ้นมา

4. รอกาวแห้งนานแค่ไหน เรียกว่านานเกินไป ?

ปกติแล้ว ยิ่งรอให้กาวยางแห้งสนิทแค่ไหน ก็ยิ่งดี ให้มั่นใจว่าสารละลายระเหยออกไปหมดแล้วจนเหลือแต่เนื้อกาว แต่แนะนำว่าไม่ควรรอนานเกิน 45 นาที เพราะในขณะที่รอกาวแห้ง อาจจะมีฝุ่น ผงหรือความสกปรกต่างๆ เข้าไปติดบนหน้ากาวได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการยึดเกาะ

แล้วถ้าเผลอรอนานเกินไป จะทำยังไงได้บ้าง? แนะนำให้ทากาวยางบางๆซ้ำลงไปอีกครั้งบนผิววัสดุ แล้วรอให้แห้งอีกครั้ง ก่อนประกบชิ้นงาน

5. จะเกิดอะไรขึ้นหากประกบชิ้นงาน ขณะที่กาวยางยังเปียกอยู่

มาถึงคำถามยอดฮิตว่าถ้าเราประกบชิ้นงาน ก่อนที่กาวจะแห้งสนิทล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?

ถ้าเราประกบชิ้นงานขณะที่กาวยางยังไม่แห้ง ตัวสารทำละลายที่อยู่ในกาวยาง ก็จะยังคงระเหยออก พอระเหยออกเรื่อยๆ ก็จะดันให้ชิ้นงานของเราที่ประกบไปแล้ว แยกออกจากกัน เป็นที่มาของชิ้นงานพองบวม นั่นเอง…นี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำไมเราถึงเห็นชิ้นงานพองนูนบวมขึ้นมาหลังจากประกบชิ้นงานไปซักพัก

และการพองนูนของชิ้นงาน ส่วนมากก็มักเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ที่อากาศชื้นจัด เพราะฉะนั้น ยิ่งในช่วงอากาศชื้น ควรใช้เวลารอให้กาวยางแห้ง ให้นานขึ้น หรือใช้ไดร์เป่าลม เป่าไปบนวัสดุที่ทากาว เพื่อช่วยเร่งให้กาวแห้งเร็วขึ้น

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ก็คือ เวลาเราทากาวยางไปบนวัสดุ อาจจะมีบางจุดที่ทาหนา จนเป็นหยดกาวนูนขึ้นมา ชิ้นงานโดยรวมอาจจะดูแห้งแล้ว แต่ถ้าเรายังไม่ได้รอให้กาวในส่วนที่หยดนูนแห้งสนิท แล้วประกบชิ้นงานไปก่อน ก็อาจจะทำให้ชิ้นงานบริเวณนี้พองนูนในภายหลังได้

เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แนะนำให้ใช้หวีปาดกาว ปาดให้ทั่วทั้งชิ้นงาน เพื่อกำจัดกาวนูนส่วนเกินออก หรือจะใช้นิ้วมือของเรา ปาดเอากาวนูนส่วนเกินออกก็ได้

สินค้าในบทความ