กาวยาง เป็นกาวสีเหลืองทอง มีเนื้อเหลวหนืด และยืดหยุ่น ส่วนประกอบหลักของกาวยางทำมาจาก ยางสังเคราะห์, เรซิ่น, ตัวทำละลาย หรือ solvent (เป็นของเหลวที่เติมลงไปเพื่อให้กาวเปียกบนผิววัสดุได้ง่ายขึ้น ซึ่งเจ้าตัวทำละลายนี้จะต้องระเหยออกจากกาวให้หมดก่อน เพื่อให้กาวแข็งและสร้างแรงยึดเกาะได้) นอกจากส่วนประกอบหลัก ทั้ง 3 แล้วก็จะมีสารอื่นๆ อย่างเช่น สารป้องกันการเสื่อมสภาพ เป็นต้น
กาวยาง ถือเป็นกาวอเนกประสงค์ ใช้ยึดติดวัสดุได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แผ่นลามิเนต หนัง ผ้า กระดาษ กระเบื้องยาง หรือแม้กระทั่งเหล็ก ….ซึ่งในบทความนี้เรามาสรุปวิธีใช้งานกาวยาง อย่างมือโปรกันให้แบบครบครันเลย
อยากรู้ กาวยางใช้วัสดุอะไรได้บ้าง คลิ๊กเลย!

อยากอ่านหัวข้อไหน คลิ๊กเลย!
1. ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผิววัสดุ ก่อนทากาวยาง
การเตรียมพื้นผิววัสดุก่อนทากาว เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทากาวยาง เพราะเมื่อทากาวยางลงไปบนวัสดุแล้ว กาวจะเกาะติดกับวัสดุ ซึ่งวัสดุส่วนมาก หากยังไม่ทำความสะอาด ก็มักจะถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นผง, สิ่งสกปรก, ความมัน, ชั้นฟิล์มปกป้อง และสารอื่นๆ ซึ่งสามารถรบกวนประสิทธิภาพการยึดเกาะของกาวยางได้
วิธีการเตรียมพื้นผิววัสดุ ที่เพียงพอสำหรับการใช้ทากาวในงานอุตสาหกรรม มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
- การทำความสะอาดพื้นผิว
ก่อนที่จะทากาว พื้นผิววัสดุควรได้รับการทำความสะอาด และเช็ด/ผึ่งให้แห้งก่อน สิ่งสำคัญคือต้องพยายามกำจัดสารปนเปื้อนออกให้มากที่สุด หากใช้น้ำยาทำความสะอาด เช่น น้ำยาที่มีส่วนประกอบของ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol, IPA) ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าพื้นผิวแห้งดีแล้ว และไม่มีคราบของสารทำความสะอาดหลงเหลืออยู่ - การล้างไขมัน
การล้างไขมันจะช่วยชะล้างคราบน้ำมันและจาระบีทั้งหมด หากเป็นไปได้ ให้ใช้สารเช่น บิวทาโนน (methyl ethyl ketone, MEK) หรือ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol, IPA) เช็ดทำความสะอาดพื้นผิว โดยให้เช็ดไปในทิศทางเดียวกัน - การขัดผิว
สำหรับการยึดเกาะที่แข็งแรง ทนทานที่สุด แนะนำให้ขัดพื้นผิว เพื่อกำจัดสารฟิล์มที่คลุมพื้นผิวเอาไว้ รวมไปถึงยังช่วยให้กาวยางมีพื้นที่ “ยึดเกาะ” ได้ดีขึ้น แนะนำให้ใช้กระดาษทรายเนื้อละเอียด (120-200 กรวด) ในการขัด
หลังจากขัดผิวเสร็จแล้ว ต้องอย่าลืมกำจัดฝุ่นผงที่เกิดจากการขัดให้หมด จากนั้นให้ทำขั้นตอนล้างไขมัน อีกครั้ง
อยากรู้ ขั้นตอนเตรียมผิววัสดุโดยละเอียด คลิ๊กเลย!
2. ทากาวยาง ต้องทาลงบนวัสดุทั้ง 2 ด้าน
กาวยาง จะแตกต่างจากกาวประเภทอื่นๆ ตรงที่ จะต้องทากาวยาง ลงบนวัสดุทั้ง 2 ชิ้นที่จะนำมาติดกัน หากทาบนวัสดุเพียงด้านเดียว วัสดุจะไม่ติดกัน
3. การรอแห้งหลังทากาว และการประกบชิ้นงานอย่างถูกวิธี
หลังจากทากาวยางลงบนวัสดุทั้ง 2 ชิ้นเรียบร้อยแล้ว จะต้องรอให้กาวยางแห้งตัวสนิทก่อนที่จะนำวัสดุทั้ง 2 ชิ้นมาประกับติดกัน โดยระยะเวลารอกาวยางแห้ง จะอยู่ที่ประมาณ 7-15 นาที แต่หากทากาวยางในพื้นที่ที่อากาศชื้นจัด หรือช่วงหน้าฝน แนะนำให้รอกาวยางแห้งอย่างต่ำ 15-20 นาที การประกบชิ้นงานขณะที่กาวยางยังเปียกอยู่ จะทำให้ชิ้นงานเกิดการพองบวมขึ้นได้ในภายหลัง
การประกบชิ้นงาน ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมาก ก่อนประกบชิ้นงานควรมั่นใจว่าวัสดุทั้ง 2 ชิ้น แปะตรงกันพอดี เพราะเมื่อแปะชิ้นงานไปแล้ว จะไม่สามารถลอกออกได้ หลังจากแปะชิ้นงานเข้าด้วยกันแล้ว ให้ใช้ผ้าแห้ง หรือลูกกลิ้ง รีดอากาศออกให้หมด โดยให้เริ่มจากตรงกลางชิ้นงานออกมาด้านนอก
เมื่อรีดอากาศเรียบร้อยให้เก็บขอบงาน และทำความสะอาดคราบกาว ด้วยน้ำยาลบคราบกาว SB
4. ระยะเวลารอชิ้นงานเซ็ตตัวที่เหมาะสม
หลังจากประกบชิ้นงาน กาวยางจะยึดติดทันที ประมาณ 80% แต่กาวยางจะใช้เวลาเซ็ตตัวประมาณ 24 ชั่วโมง ในช่วงเวลาที่กาวยางเซ็ตตัว ไม่ควรแงะ หรือ แกะ ชิ้นงาน โดยเด็ดขาด
5. คำถามที่พบบ่อย
- a. หากทากาวยางลงบนวัสดุด้านเดียว วัสดุจะประกบติดกันได้หรือไม่
ตอบ. ไม่ได้ - b. ใช้เวลารอกาวยางแห้งนานแค่ไหน ก่อนจะประกบชิ้นงานได้
ตอบ. ประมาณ 7-15 นาทีแล้วแต่สภาพอากาศ ในช่วงอากาศร้อน แห้ง กาวยางจะแห้งตัวไว แต่ในช่วงอากาศชื้น หรือในห้องแอร์ ควรใช้เวลาอย่างต่ำ 15-20 นาทีในการรอให้กาวยางแห้งตัวสนิทก่อนประกบ - c. กาวยาง ทนความร้อน และน้ำ หรือไม่
ตอบ. กาวยาง สามารถทนความร้อน และน้ำได้ในระดับหนึ่ง - d. กาวยาง มีอายุใช้งาน นานแค่ไหน
ตอบ. กาวยาง มีอายุการใช้งานประมาณ 1-1.5 ปี หากเปิดฝาใช้งานกาวยางแล้ว แนะนำให้ปิดฝาให้สนิทเพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปทำให้กาวหนืดข้นขึ้น แต่หากกาวยางเก็บไว้ข้นหนืดขึ้น แนะนำให้ใช้ สารละลายกาว SB ผสมลงในกาวยางให้กาวยางเหลวขึ้น - e. วัสดุที่ดูดกาว เช่น ไม้ MDF ต้องทากาวยางกี่รอบ
ตอบ. สำหรับวัสดุที่มีรูพรุนมาก เช่นไม้ MDF แนะนำให้ทากาวยาง ซ้ำ 2 รอบ เนื่องจากการทากาวยางรอบแรก วัสดุที่มีรูพรุน จะดูดกาวเข้าไปในรู ทำให้อาจมีเนื้อกาวไม่เพียงพอบนผิววัสดุสำหรับการยึดเกาะที่คงทน
สินค้าในบทความ


