หลายคนมักมีความเชื่อว่า ยิ่งกาวข้นเท่าไหร่ แปลว่ากาวยิ่งยึดติดดี บทความนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่าความเชื่อนี้จริงๆแล้วถูกต้องหรือไม่
ถ้าให้พูดกว้างๆ ความหนืด ของกาว (Viscosity) กับ แรงยึดเกาะ ของกาว (Bonding strength) เป็นคอนเซปที่ไม่เหมือนกัน แม้จะมีส่วนเชื่อมกันบ้าง แต่จริงๆแล้วมีความหมายและวิธีวัดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในบทความนี้ เราจะมาขยายความหมายของทั้งสองคำนี้กัน รวมไปถึงสรุปคำตอบของคำถามที่ว่า “กาวยางยิ่งหนืดข้น ยิ่งติดดี” จริงหรือไม่

อยากอ่านหัวข้อไหน คลิ๊กเลย!
1. ความหนืด คืออะไร
ความหนืด คือ ความต้านทานต่อการไหลของของเหลว เมื่อเกิดการเปลี่ยนรูปจากแรงภายนอก โดยของเหลวที่มีความหนืดสูง (ข้นกว่า) จะไหลได้ช้ากว่า ความหนืดของกาวยางนอกจากจะถูกกำหนดโดยองค์ประกอบทางเคมีแล้ว ความหนืดยังแปรผันตามอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่ใช้งานกาวยาง เช่น กาวยางจะหนืดน้อยลง (เหลวขึ้น) ในสภาพอากาศที่ร้อน
2. ความหนืดส่งผลต่อการใช้งานกาวยาง อย่างไร
ความหนืดของกาวยาง ส่งผลต่ออัตราการ”ไหล”ของกาวบนพื้นผิววัสดุ
กาวยางที่มีความหนืดต่ำ จะไหลได้เร็วกว่ากาวยางที่มีความหนืดสูง จึงสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็วและเคลือบผิวได้เรียบเนียน บางกว่า ความหนืดที่เหมาะสมของกาวยางนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีนำไปใช้งานและความถนัดของผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น กาวยางที่มีความหนืดต่ำ ก็มักจะนำไปใช้เป็นกาวยางพ่น แต่ สำหรับการทากาวยางบนพื้นที่แนวดิ่ง หรือแนวตั้งนั้น ก็แนะนำให้ใช้กาวยางที่มีความหนืดสูงขึ้น เพื่อไม่ให้หยดไหลง่าย

3. จะเกิดอะไรขึ้นถ้ากาวยางมีความหนืดที่ต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป
กาวยางที่มีความหนืดต่ำเกินไป จะไหลง่าย หากนำไปทาก็จะทำให้ยากต่อการใช้งาน
ในขณะเดียวกัน หากกาวยางมีความหนืดที่สูงจนเกินไป จะเคลื่อนไหวช้า และต้องใช้แรงมากกว่าในการทากาวยางเคลือบผิววัสดุ
4. แรงยึดเกาะของกาวยาง คืออะไร
แรงยึดเกาะ คือ ความแข็งแรงภายในของกาวในการยึดเกาะเข้าด้วยกัน อธิบายง่ายๆก็คือ ยิ่งมีแรงยึดเกาะมากเท่าไหร่ กาวก็จะยิ่งแข็งแรงมากเท่านั้น โดยความแข็งแรงของกาวจะถูกกำหนดโดยองค์ประกอบทางเคมีหรือวัตถุดิบของกาว นอกจากนี้แรงยึดเกาะของกาวยาง ยังถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอก รวมถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้องอีกด้วย

5. ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อแรงยึดเกาะของกาว
ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อพันธะหรือแรงยึดเกาะของกาว มีดังนี้
- การเลือกประเภทของกาวที่เหมาะสมต่อวัสดุที่จะใช้งาน
มีตัวเลือกของกาวมากมายในท้องตลาดปัจจุบัน ควรเลือกประเภทและรูปแบบของกาวให้เหมาะสมกับวัสดุและลักษณะการยึด
- ความสะอาดของพื้นผิววัสดุ
เพื่อให้ได้การยึดเกาะที่ดี ควรเริ่มจากพื้นผิวยึดติดที่สะอาด ก่อนทากาวต้องกำจัดสิ่งแปลกปลอมบนพื้นผิววัสดุ เช่น ฝุ่น น้ำมัน ความชื้น ออกให้หมด มิฉะนั้นกาวจะยึดติดกับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้แทนที่จะติดกับผิววัสดุ
- กระบวนการติดกาวที่เหมาะสม
กระบวนการติดกาวที่เหมาะสม รวมไปถึงวิธีการทากาวยางให้ถูกต้อง, ระยะเวลารอแห้งที่เหมาะสม ไปจนถึงขั้นตอนการประกบชิ้นงานไม่ให้มีฟองอากาศ
6. คำตอบของคำถาม “กาวยางยิ่งหนืดข้น ยิ่งติดดี” จริงหรือไม่
อย่างที่เราได้อธิบายไป ว่าความหนืด เกี่ยวข้องกับอัตราการไหลของกาว ความหนืดที่สูง หมายความว่า กาวจะไหลได้ช้ากว่า ส่วนแรงยึดเกาะ คือ ความแข็งแรงภายในของกาวในการยึดเกาะเข้าด้วยกัน
กาวยาง มีองค์ประกอบหลักทำมาจาก ยางสังเคราะห์, เรซิ่น, สารเติมแต่ง, และตัวทำละลาย ซึ่งวัตถุดิบแต่ละตัว ก็มีให้เลือกหลากหลายชนิด และหลากหลายเกรด การเลือกวัตถุดิบเหล่านี้ ส่งผลทั้งต่อความหนืด และแรงยึดเกาะของกาว ยกตัวอย่างเช่น ยางสังเคราะห์ A ให้ความหนืดกาวที่สูงมาก แต่แรงยึดเกาะต่ำ ส่วนยางสังเคราะห์ B อาจส่งผลเล็กน้อยต่อความหนืดของกาวที่เพิ่มขึ้น แต่ให้ค่าแรงยึดเกาะของกาวที่สูง…
ถ้าจะให้มองเห็นภาพง่ายๆ วัตถุดิบสำหรับการทำกาวยาง DD สูตรพ่น จะต้องเลือกยางสังเคราะห์ที่ให้ความหนืดต่ำ แต่แรงยึดเกาะที่สูง ในทางตรงกันข้าม การเลือกองค์ประกอบของกาวยางชนิดทา เช่น กาวยาง SB สูตรพรีเมี่ยม, กาวยาง SBน้ำเงิน สูตรไร้กลิ่นฉุน และ กาวยาง DD สูตรเข้มข้น ก็จะต้องเลือกยางสังเคราะห์ที่ให้ความหนืดที่สูงกว่า…เพราะฉะนั้น การเลือกยางสังเคราะห์สำหรับกาวยางแต่ละชนิด แต่ละเกรดจึงไม่เหมือนกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน และความต้องการของผู้ใช้
เท่านี้ เราก็คงสามารถสรุปได้แล้วว่า…กาวยางยิ่งความหนืดสูง ไม่ได้บ่งบอกว่า จะมีแรงยึดเกาะที่สูงขึ้นไปด้วย!
สินค้าในบทความ



